7/04/2553

ประวัติศาสตร์ดนตรีจีน

ดนตรีจีน

อานันท์ นาคคง


ประเทศจีนมีความเป็นมายาวนาน มีอาาเขตกว้างใหญ่ไพศาลกว่า 9.6 ล้านตางรางกิโลเมตร รายล้อมไปด้วยดินแดนที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมสูง ทิศเหนือติดกับรัสเซียและมองโกเลีย ทิศตะวันออกติดกับเกาหลีเหนือ ทิศตะวันตกติดกับปากีสถานและอัฟกานิสถาน ทิศใต้ติดกับอินเดีย ภูฐาน เนปาล พม่า ลาว และเวียดนาม นอกจากนี้ยังมีอาณาเขตทางทะเลจีนใต้ ทะเลจีนตะวันออก ทะเลเหลือง มีเกาะมากกว่า 5,000 เกาะ ภูมิประเทศภายในมีทั้งเทือกเขาสูง ที่ราบสูง ที่ราบลุ่ม ทะเลทราย มีแม่น้ำสายสำคัญที่เป็นบ่อเกิดอารยธรรมจีนโบราณคือ ฮวงโห (แม่น้ำเหลือง) แยงซี ซี ปัจจุบันเขตแม่น้ำแยงซีมีประชากรอยู่หนาแน่นที่สุด จำนวนประชากรโดยรวมกว่า 1,000 ล้านคน ประกอบไปด้วยชาติพันธ์ต่างๆถึง 56 ชนเผ่า (ฮั่น 92%, มองโกล ธิเบต แมนจู จ้วง แม้ว เย้า ชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ฯลฯ) มีตระกูลภาษาพูดหลากหลายมาก

จีนแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 22 มณฑล 5 เขตปกครองตนเอง 3 เทศบาลนคร (ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เทียนสิน) และ 1 เขตปกครองพิเศษ (ฮ่องกง)
ศาสนาความเชื่อ สมัยโบราณนับถือลัทธิเต๋า ศาสดาเหลาจื้อ สอนการดำเนินชีวิตให้เข้ากับธรรมชาติ, ลัทธิขงจื้อ สอนเรื่องหน้าที่ปัจจุบัน การทำพิธีกรรม บูชาบรรพบุรุษ ต่อมาราว 2,000 ที่แล้วจีนรับศาสนาพุทธมหายาน จากอินเดีย ศาสนาพุทธเป็นที่นิยมมากก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ประวัติศาสตร์ดนตรีจีน

ศิลปวัฒนธรรมดนตรีจีนมีประวัติความเป็นมายาวนานและมีความหลากหลายจากสภาพทางภูมิศาสตร์ที่กว้างขวาง
ในที่นี้จะกล่าวถึง เฉพาะกรณีดนตรีฮั่น (Cantonese Music) ซึ่งเป็นตัวแทนดนตรีขนบประเพณีของจีนมาตลอดเวลา

1. ยุคแรก (1766-256 B.C.) ราชวงศ์ซาง-โจว ดนตรีมีบทบาทต่อวิถีชีวิตคนอย่างใกล้ชิด พบหลักฐานทางโบราณคดีเกี่ยวกับเครื่องดนตรีในราชวงศ์ชางมาก เช่น ระฆังสำริด ระฆังราวหิน เครื่องเป่าจากกระดูกสัตว์ ในราชสำนักโจวเกิดการใช้ดนตรีในพิธีกรรมเซ่นไหว้บรรพบุรุษด้วยแนวคิดขงจื้อ ที่ระบุไว้ในตำราซือจิง(ว่าด้วยเรื่องบทกวีที่เกี่ยวข้องกับดนตรีในทั้ง จังหวะและทำนองขับร้อง) ปราชญ์ขงจื้อให้ความสำคัญกับเรื่องของการปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมให้เกิด ในตัวบุคคลผ่านการศึกษาวิชาจารีตประเพณี (li) กวีนิพนธ์ (shis) และดนตรี (yueh) เชื่อว่าสังคมจะสงบสุขได้ด้วยองค์ความรู้ทั้งสามนี้ มีการตั้งกระทรวงการดนตรี พัฒนารูปแบบดนตรีราชสำนัก Ya-Yueh ตลอดจนการขับร้องและฟ้อนรำ

2. ยุคกลาง (221B.C.-907 A.D.) (ราชวงศ์จิ๋น-ฮั่น-สุย-ถัง) หลังจากราชวงศ์โจวเสื่อมอำนาจ ราชวงศ์จิ๋นขึ้นปกครองแทน หากแต่มีความวุ่นวายทางการเมืองและสงครามทำให้ดนตรีในสมัยนี้ไม่เด่นชัดนัก อีกทั้งมีการเผาหนังสือตำราชและประหารชีวิตนักปราชญ์ราชบัณฑิตจำนวนมาก ดนตรีขงจื๊อกลับมารุ่งเรืองอีกครั้งในสมัยราชวงศ์ฮั่น มีการตั้งระดับเสียงมาตรฐานในรัชกาลพระเจ้าวู่ตี่ ตั้งหน่วยดนตรีราชสำนักเย่ฟู่ รับผิดชอบงานพิธี งานบันเทิง เก็บรักษาโน้ต เนื่องจากความแข็งแกร่งทางอำนาจการเมืองที่สามารถขยายขอบเขตประเทศออกไป กว้างไกล ราชวงศ์ฮั่นรับอิทธิพลต่างประเทศมาก รับพุทธศาสนาจากอินเดีย รับดนตรีจากเขตตะวันออกกลางเข้ามาประสมและพัฒนามาเป็นเครื่องดนตรีประจำชาติ จีนในภายหลังเช่น พิณ ud สี่สายของเปอร์เซียกลายเป็นผีผา pipa สมัยราชวงศ์ถัง จีนมีดนตรีถึง 10 ประเภทด้วยกัน เช่น ดนตรีงานเลี้ยงรับรอง ดนตรีจากชนกลุ่มน้อย ชาวเขา จากอินเดีย เอเชียกลาง ยุคทอง คือสมัยพระเจ้าเสียงจง 712-756A.D. มีบันทึกว่ามีนักดนตรีอยู่ในเมืองฉางอันกว่า 10000 คน มีการแบ่งหมวดหมู่ดนตรีราชสำนักเป็นดนตรีพิธีขงจื๊อ ดนตรีการแสดง ดนตรีบรรเลง เครื่องดนตรีที่นิยมมากคือฉิน Qin สำหรับนักปราชญ์ฝึกฝนปัญญาสมาธิ นอกจากนี้ยังมีการก่อตั้งวิทยาลัยดนตรีหลีเหยิน (Li Yuen, Imperial Academy of Music) เป็นครั้งแรกในปี 714 ฝึกฝนบัณฑิตทางศิลปะการแสดงดนตรีอย่างจริงจัง

3. ยุคหลัง (960-1911A.D.) ราชวงศ์ซ้อง ดนตรีก้าวหน้ามาก แบ่งเป็นกลุ่มดนตรีพิธีกรรมขงจื๊อ Ya-Yueh, ดนตรียอดนิยม Su-Yueh, ดนตรีต่างประเทศ Hu-Yueh มีการแต่งเพลงเน้นเอกลักษณ์จีนมาก มีการปรับปรุงเครื่องดนตรีจากเอเชียกลาง เช่น ซอฮูฉิน มีการพัฒนารูปแบบดนตรีเพื่อใช้ในการละครจีนและการขับร้องพื้นเมือง ราชวงศ์หมิง มีการพัฒนาแนวคิดระบบเสียง equal temperament อย่างจริงจังโดยเจ้าชายไซหยู (Tsai-Yu 1596) ซึ่งส่งผลให้ทฤษฎีดนตรี จีนเข้มแข็งต่อมา ราชวงศ์ชิง มีการรับดนตรีตะวันตกในทางเพลงคริสตศาสนาและแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างนัก ดนตรีจีนกับยุโรปหลายคน เครื่องดนตรีแคน เช็ง sheng กลายเป็นที่รู้จักในยุโรปและมีผลต่อการพัฒนาออร์แกน ในขณะที่ขิม หยางฉิน Yang chin (จีนเรียกว่า “พิณฝรั่ง” foreign zither) เป็นเครื่องดนตรีที่นำเข้ามาจากฝ่ายยุโรปและพัฒนาวิธีการขึ้นเสียงตลอดจนการ บรรเลงให้เป็นจีนในที่สุด กลางราชวงศ์ชิงดนตรีโบราณของจีนเสื่อมคลาย ดนตรีตะวันตกเป็นที่ยอมรับมากในหมู่ชนชั้นกลางรุ่นใหม่

4. สมัยสาธารณรัฐ ราชวงศ์ชิงเสื่อม แมนจูเข้าช่วยปราบกบฏชาวนา-ยึดกรุงปักกิ่งเป็นราชธานี ช่วงหลังเกิดปัญหามาก ประเทศตะวันตกแผ่อิทธิพลเข้ามาในจีน เกิดสงครามฝิ่นกับอังกฤษ (1839-42) กบฏไตปิง (1850) สงครามญี่ปุ่น (1894) เกิดขบวนการอั้งยี่ การฉ้อราษฏรบังหลวง ฯลฯ จนกระทั่งพระเจ้าปูยีฮ่องเต้องค์สุดท้ายสละราชสมบัติ
ปี 1911จีนเข้าสู่ระบบการปกครองสาธารณรัฐและเป็นการสิ้นสุดประวัติศาสตร์อันยาว นานของดนตรีจีนราชสำนักด้วย เกิดความขัดแย้งระหว่างเก่า-ใหม่ คนรุ่นใหม่ ชนชั้นกลางสนับสนุนเรียนดนตรีตะวันตกกันมากขึ้น มีการตั้งภาควิชา ดุริยางคศาสตร์ในมหาวิทยาลัยปักกิ่งในปี 1923และโรงเรียนศิลปะดนตรีตะวันตกในเซี่ยงไฮ้ปี 1927 ดนตรีฝรั่งกลายเป็นแฟชั่นของปัญญาชนจีนยุคใหม่ในขณะนั้น ส่วนดนตรีแบบฉบับดั้งเดิมและเครื่องดนตรีแท้ๆของจีนกลับเป็นของป่าเถื่อนล้า สมัยไป บทเพลงเกิดใหม่ตั้งแต่ 1930 เป็นต้นมาใช้เทคนิคการประพันธ์และเรียบเรียงเสียงประสานแบบตะวันตก เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงก็เป็นฝรั่งอย่างไม่มีทางเลี่ยง รูปแบบคีตนิพนธ์ที่ผลิตออกมามีทั้ง leider, sonata, concerto, symphony, choral และ opera แต่ก็ยังมีคีตกวีรุ่นใหม่บางคนพยายามที่จะหาวิธีประสมประสานระหว่างดนตรีจีน เก่ากับดนตรีตะวันตกเพื่อให้เป็นมาตรฐานใหม่ของวัฒนธรรมจีน นอกจากแนวคลาสสิก ดนตรีพ็อพก็เป็นที่เฟื่องฟูมากโดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจสำคัญคือเมืองเซี่ยงไฮ้ เรียกดนตรีพ็อพนี้ว่า Yellow music เนื้อหาประโลมโลกย์ เทคนิคการร้องแบบตะวันตก ทำนองช้าเนิบหวาน มีงานเพลงใหม่มากมายเล่นในบาร์ ไนต์คลับ งานเลี้ยงสังสรรค์ และมีบทบาทสืบเนื่องไปถึงอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่เกิดใหม่ในจีนด้วย

เมื่อถึงปี 1949 เหมา เจ๋อ ตุง เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นสังคมนิยม คอมมิวนิสต์เข้าควบคุมงานทางวัฒนธรรม ย้อนไปเมื่อปี 1937 ประธานเหมาเคยได้กล่าวสุนทรพจน์ที่สภาปฏิวัติเยนอานเกี่ยวกับวรรณคดีและ ดนตรีว่าควรมีหน้าที่ประหนึ่งอาวุธอันทรงพลังที่จะสร้างเอกภาพและให้การ ศึกษาทางจิตสำนึกแก่ประชาชนเพื่อเอาชนะและทำลายล้างข้าศึกที่เป็นปฏิปักษ์ ต่อสังคมนิยม เมื่อปฏิวัติสำเร็จจึงเกิดการสนองตอบในเชิงสร้างสรรค์ดนตรีเน้นนโยบายศิลปะ รับใช้มวลชน mass music ดนตรีเพื่อสังคมนิยมและเพลงชาวบ้านมีบทบาทเด่นมากโดยเฉพาะช่วง 1949-64 เกิดวรรณกรรมเพลง Geming Guqu เพื่อรับใช้อุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์ และหันมาหาวิธีการปรับแนวตะวันตกในการรับใช้จีน สนับสนุนเพลงพื้นบ้าน เพลงปฎิวัติ เพลงเชิดชูสังคมนิยม กรรมาชีพ นิยมเพลงร้องหมู่-เพลงมาร์ชที่แสดงพลังมวลชน มากกว่าเพลงร้องเดี่ยวที่ สื่อศิลปะส่วนตัว งานอุปรากรจีนสดุดีนักรบประชาชนได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขัน รวมทั้งการปรับเปลี่ยนท่วงท่าของการแสดงที่อ่อนช้อยจากจีนเดิมมาสู่การ เคลื่อนไหวแนวขึงขังทรงพลังอย่างบัลเล่ต์รัสเซีย

5. ยุคปฏิวัติวัฒนธรรม The Cultural Revolution 1966-76 ประธานเหมาเจ๋อตุงรื้อฟื้นอำนาจตนเอง เป็นผู้นำการทำลายล้างปราบปรามบุคคลฝ่ายที่ยังคงคิดเห็นในทางตรงข้ามอย่าง รุนแรงด้วยการสนับสนุนเยาวชนเรดการ์ด กองกำลังติดอาวุธ และการดำเนินงานทางวัฒนธรรมการเมืองซ้ายสุดกู่ภายใต้แก็งค์สี่คน Gang of four ผู้มีบทบาทเด่นในการปรับปรุงระบบวัฒนธรรมคือภรรยาของประธานเหมา นางเจียง ชิง Jiang Qing งดเว้นดนตรีศักดินา (ดนตรีคลาสสิคตะวันตกและดนตรีราชสำนัก) สั่งปิดโรงเรียนและกิจการดนตรีตะวันตกไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมแผ่นเสียง สถานบันเทิง สลายคณะศิลปินพื้นบ้าน ยกเลิกประเพณีโบราณเช่นเทศกาลโคมและแข่งเรือ มีกรรมาธิการตรวจสอบงานแสดงต่อสาธารณะว่ามีความสอดคล้องกับนโยบายของรัฐหรือ ไม่เพียงไรไม่ว่าจะเป็นเนื้อร้องทำนองหรือท่าทางในการแสดง กล่าวได้ว่ายุคปฏิวัติวัฒนธรรมนี้เป็นยุคมืดของดนตรีจีนที่สุดยุคหนึ่ง

6. ดนตรีจีนยุคปัจจุบัน หลังจากมรณกรรมของประธานเหมา ขั้วอำนาจเก่าสลายตัวลง เติ้ง เสี่ยว ผิง เข้าปกครองแทน ปรับเปลี่ยนแนวทางการเมืองจีนไปในทางผ่อนปรนมากขึ้นรวมทั้งเปิดประตูความ สัมพันธ์กับนานาชาติอีกครั้ง รัฐบาลรุ่นหลังๆใส่ใจปฏิรูปการปกครองและพัฒนาคนในชาติในทุกๆทางอย่างได้ผล ระบบดนตรีเป็นอิสระมากขึ้น คีตกวีรุ่นใหม่ที่มีความสำนึกในชาติ สนใจหันกลับไปพัฒนาดนตรีจีนเดิมให้ทันสมัยมากขึ้น มีการขยายวงดนตรีจีนเดิมจากวงเล็กๆกลายเป็นออร์เคสตร้าขนาดใหญ่ เพิ่มเติมเครื่องดนตรีจีนที่มีสุ้มเสียงแตกต่างเข้าร่วมในวงจีนเดิม พัฒนาการบรรเลงให้มีความร่วมสมัยมากขึ้นจนเป็นที่ยอมรับทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีการตั้งสมาพันธ์ดนตรีแห่งชาติยกย่องเชิดชูเกียรตินักดนตรีจีน เดิมให้เป็นที่ประจักษ์แก่สังคม
ส่วนดนตรีสากลก็ได้รับการเอาใจใส่อย่างดีจากรัฐบาล มีหน่วยงานการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ จัดการแข่งขันทางดนตรีเพื่อผลิตบุคลากรที่มีฝีมือยอดเยี่ยมออกมามากมาย มีวงดนตรีสากลประจำรัฐ ประจำท้องถิ่น ประจำสถานีวิทยุโทรทัศน์ มีอุตสาหกรรมผลิตเครื่องดนตรีทุกประเภทส่งออกทั่วโลก

ศิลปินจีนยุคหลังที่มีชื่อเสียง เช่น เสียน ซิงไห่ xian xinghai(1905-45) แต่งเพลงแม่น้ำเหลือง Yellow River Cantata (ต่อมากลายเป็น Yellow River concerto), เฉิน กัง Chen gang และเหอ ซ่าน ห่าว He zhan hoแต่งเพลงบัตเตอร์ฟลายเลิฟเวอร์คอนแชร์โต้ the butterfly lovers concerto, หัว หยั่น จุ้น Hua Yan Jun (1893-1950) หรือ “อาปิง” Ah Bing อัจฉริยะตาบอด แต่งเพลงสำหรับซอเออร์หูจำนวนมาก, เติ้ง ลี จิน (Deng Li-Chun หรือ Theresa Deng) นักร้องเพลงสมัยนิยมจากไต้หวันซึ่งกลายมาเป็นที่นิยมมากในจีน, ตาน ดุน Tan Dun แต่งเพลงแนวก้าวหน้า (modern music) และเพลงประกอบภาพยนตร์ (film music) มีชื่อเสียงมากในปัจจุบัน, ซุย เจี๋ยน (Cui Jian) และ หู เต้เจี๋ยน (Hou Dejian) นักดนตรีร็อคหัวรุนแรงที่มีอิทธิพลต่อคนหนุ่มสาวยุคใหม่ของจีน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น