7/04/2553

องค์ประกอบทางดนตรีของจีน

องค์ประกอบทางดนตรีของจีน
อานันท์ นาคคง

ระบบเสียงของดนตรีจีน

ระบบเสียงดนตรีในจีนมีการพัฒนาและคลี่คลายมาตลอดเวลากว่า 3,000 ปี ขึ้นอยู่กับสภาพสังคมวัฒนธรรมความเชื่อและอิทธิพลของวัฒนธรรมดนตรีอื่นที่ เข้ามากระทบ
ปัจจุบัน จีนมีทั้งดนตรีที่ใช้ระบบ 5 เสียง 7 เสียง และ 12 ครึ่งเสียงอย่างดนตรีคลาสสิกตะวันตก ระบบเสียงเล่านี้เมื่อนำมาบรรเลงด้วยเครื่องดนตรีจีนใดๆก็ตาม เสียงที่เปล่งออกมายังคงแสดงถึงเอกลักษ์ทางดนตรีของจีนไว้ได้เสมอ

ระบบเสียงจีนโบราณ
สะท้อนการเชื่อมโยงระหว่างดนตรีกับความเชื่อเรื่องจักรวาลตามคติดั้งเดิมของ ชาวจีน เมื่อมีการผลัดเปลี่ยนราชวงศ์หรือผู้ปกครองแผ่นดิน ต้องมีการเปลี่ยนเสียงหลัก (foundation tone) ของโน้ตดนตรีไปด้วยเพื่อความผาสุกของบ้านเมืองและการเสริมดวงชะตาของราช สำนัก เสียงหลักนั้นเรียกว่า “ห่วงซุง” (huang chung) หรือ “ระฆังเหลือง” (yellow bell) ซึ่งต้องอาศัยการคำนวณดวงดาวตามตำแหน่งต่างๆให้เข้ากับราศีขององค์ฮ่องเต้ ใหม่ โดยผู้เชี่ยวชาญดนตรีแห่งราชสำนัก

มีตำนานกล่าวถึงนักปราชญ์ทางดนตรีคนหนึ่งชื่อหลิงหลุน (Ling Lun) ได้ค้นพบเสียงประจำราชวงศ์ของกษัตริย์ฮวงตี่ (Huang-ti) เมื่อ 2690 B.C. โดยเดินทางไปยังทิศตะวันตกเพื่อตัดไม้ไผ่มาคำนวณให้ได้ความยาวที่ต้องการ แล้วเป่าลมเข้าไปเพื่อได้ระดับเสียงห่วงซุงประจำพระองค์ จากนั้นก็เป่าลมด้วยแรงกำลังที่มากขึ้นได้เสียงเป็นคู่5 (overblown fifth) แล้วตัดไม้ไผ่ลำต่อไป ให้ได้ระดับเสียงที่ 2 ของลำแรก แล้วเป่าด้วยลักษณะเดียวกันต่อไปเรื่อยๆในลักษณะ cycle of fifths จนในที่สุดได้วงจรเสียงเป็น 12 ขั้นตามลำดับ เรียกว่า “หลู” (lu) ซึ่งหากนำมาเขียนเรียงต่อกันบนบรรทัดห้าเส้นด้วยโน้ตสากลอาจเทียบได้กับ บันไดเสียงโครมาติก (chromatic) ของตะวันตก แต่อย่างไรก็ตามเมื่อนำเสียงเหล่านี้ไปใช้ในเพลงหรือการบรรเลง จะนิยมใช้เสียงหลัก 5 โน้ต “วู่ เช็ง” (wu sheng) เรียงเป็นเสียง กุง (1) แฉ่ง (2) เฉียว (3) ฉือ (5) ยู (6) ตามลักษณะบันไดเสียงเพนตาโทนิค pentatonic (5เสียง) และบันไดเสียงเฮปตาโทนิค heptatonic (7เสียง เพิ่มเสียงที่ 4 เปียนฉือ และเสียงที่ 7 เปียงกุง เข้าไป) ซึ่งทั้งสองบันไดเสียงนี้สามารถนำไปจัดระเบียบเป็นชุดโหมดเสียงที่เรียกว่า “เทียว” (tiao) ได้อีกอย่างละ 5 และ 7 ชุดตามลำดับ การให้ความสำคัญกับระบบเสียงโดยเฉพาะเพนตาโทนิคเป็นเอกลักษณ์สืบต่อมาใน ดนตรีจีนทุกยุคสมัย

จังหวะในดนตรีจีน
จากปรัชญาขงจื้อที่ยึดหลักความสมานฉันท์กับธรรมชาติและวิถีชีวิตที่เรียบ ง่าย สะท้อนมาในการดำเนินจังหวะเพลงของดนตรีจีนด้วย จังหวะดนตรีที่ใช้ส่วนใหญ่จะตรงไปตรงมา มีการแบ่งสัดส่วนจังหวะที่ชัดเจนเป็น 2/4, 4/4, จังหวะ 3 พยางค์ และยังมีจังหวะอิสระ (free rhythm) ในช่วงขึ้นต้นและลงท้ายบทเพลงโดยเฉพาะเพลงร้อง เครื่องดนตรีที่ทำหน้าที่ประกอบจังหวะมีบทบาทมากในการแสดงดนตรีพิธีกรรมและ ดนตรีกลางแจ้งมากกว่าดนตรีในร่ม รวมทั้งเป็นผู้รับผิดชอบสนับสนุนความชัดเจนของการเคลื่อนไหวของตัวละครในอุปรากรจีนด้วย

โน้ตเพลงจีน
จีนมีการพัฒนาความรู้เกี่ยวกับการบันทึกโน้ตเพลงมายาวนานกว่า 2,000 ปี เปลี่ยนแปลงวิธีการเขียนและการอ่าน/การตีความมาเป็นระยะๆ จากยุคแรกเริ่มที่เขียนเป็นลักษณะคำกวีประกอบภาพ สื่อด้วยจินตนาการของผู้เล่นมาสู่การคิดสร้างสัญลักษณ์แทนเสียงให้บรรเลงได้ พร้อมเพรียงกันจนมาเป็นโน้ตมาตรฐานในยุคหลัง ผลที่ได้โดยรวมคือการรักษาอดีตของวัฒนธรรมดนตรีตนไว้อย่างมั่นคง นักดนตรีรุ่นหลังสามารถศึกษาภูมิปัญญาของคนรุ่นก่อนได้จากเอกสารวิชาการ ดนตรีและหลักฐานทางโน้ตที่ตกทอดผ่านกาลเวลา

ระบบการเขียน มีทั้งโน้ตระดับเสียง (tonal notation) โน้ตแผนผังท่าทีการบรรเลง (tablature notation) และโน้ตตัวอักษร (neumes notation)
ในอดีตนิยมเขียนจากแถวบนลงล่างและอ่านจากขวาไปซ้าย ปัจจุบันนิยมตัวเลขอารบิคเขียนแบบโน้ตสากลเรียงจากซ้ายไปขวา
ลักษณะโน้ตรุ่นใหม่เขียนในอัตรา 4/4 โดยมีการแบ่งห้องกั้นเช่นเดียวกับโน้ตในดนตรีตะวันตก ส่วนใหญ่จะเป็นโน้ตทำนองหลัก เป็นโน้ตกลางๆมากกว่าให้รายละเอียดเฉพาะเครื่องดนตรีใดเครื่องดนตรีหนึ่ง ซึ่งผู้เล่นจะต้องอาศัยการตีความเพิ่มเติมเอง นอกจากนี้การเขียนจังหวะก็ไม่นิยมระบุชัดเจนด้านความช้าเร็วหรือการเน้นหนัก เบา

1 ความคิดเห็น: